วัดป่าโมกวรวิหาร

24 ก.ค. 2561      948 views

แชร์ทั้งหมด 1 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

        เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย เดิมเรียกว่าวัดใต้ท้ายตลาด วัดป่าโมกมีสิ่งสำคัญหลาย ๆ ประการ คือ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลายโดยแท้ มีรูปทรงหลังคาเป็นฐานวิหารอ่อนโค้งรูปสำเภา ไม่สูงมากนักเป็นหลังคาลด 2 ชั้น ต่อด้วยปีกนกด้านละ 2 แถบ มี 9 ห้อง เจาะช่องหน้าต่างด้านละ 7 บาน ด้านหน้าเจาะเป็นประตู ทางเข้าประตูเขียนลายรดน้ำลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ก้านแย่งยอดพระพุทธไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์ นอนตะแคงขวาแบบสีหไสยา มีความยาวจากพระเมาลีถึงพระบาท 22 เมตร พระเศียรหนุนพระเขนย รูปทรงกระบอก 3 ใบ ลดหลั่นกันจากใหญ่ขึ้นไปหาเล็กแล้วคลุมด้วยผ้าทิพย์จัดเป็นผ้าทิพย์ที่มีลวดลายวิจิตรงดงามที่สุด


        พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาด 5 ห้อง หลังคาลดหลั่น 2 ชั้น หน้าพระอุโบสถใต้หน้าบันมีหลังคาคลุมแบบ “จั่นหับ” มีประตูทางเข้า 2 ประตู หน้าต่างด้านละ 3 บาน เขียนลายรดน้ำ ส่วนรอบนอกพระอุโบสถมีใบเสมาเป็นของเก่าในสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นหินชนวนตั้งอยู่บนฐานดอกบัว และฐานสิงห์ ในสมัยอยุธยาตอนปลายเรียกว่า “เสมานั่งแท่ง”


        วิหารเขียนมีขนาด 7 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น ใต้หน้าบันด้านหน้าปิดผนังทึบมีเสาแบนหรือเสาอิง 2 ตัน มีหลังคาคลุมลดลงมารองรับด้วยเสา 4 ต้น ที่เรียกว่า “จั่นหับ” ผนังรอบวิหารมีเสาอิงประดับระหว่างประตูหน้าต่าง บัวหัวเสาเป็นบัวจงกลปูนปั้น สันนิษฐานว่าเดิมเป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าท้ายสระในคราวเสด็จชะลอพระพุทธไสยาสน์


        มณฑป ก่อด้วยอิฐฉาบปูน หน้าบันมีลวดลายปูนปั้นรอบมณฑป ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยสลักด้วยหิน ซึ่งวัดป่าโมกวรวิหาร


        วัดป่าโมกวรวิหาร ปัจจุบันเป็นวัดหลวงชั้นวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เลยตลาดป่าโมกประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดพินิจธรรมสารอาจจะใช้เส้นทางเดินทางโดยใช้เส้นทางอยุธยา-ป่าโมก-อ่างทอง และข้ามเรือจากวัดพินิจธรรมสารเพื่อชมบรรยากาศ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา